หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2535
ประเทศ บรูไน
กลับไปหน้าที่แล้ว

ป่าสูงน้ำใส


    พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๖ จากบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือน เนการาบรูไนดารุสซาลาม ระหว่างวันที่ ๗-๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “ความนำ” มีใจความตอนหนึ่งว่า

     “เรื่องนี้อาจถือได้ว่าเป็นภาค 2 ของเรื่อง ‘ลัดฟ้าล่าวิชาหาอาจารย์’ เพราะว่าเมื่อวันที่ 24 มกราคมปีนี้ (2534)  ข้าพเจ้าได้ไปที่ราชสมาคมภูมิศาสตร์ (The Royal Geographical Society) ตอนนั้นได้ทราบเรื่องโครงการศึกษาป่าดิบเมืองร้อนที่บรูไน พอได้ยินเข้าข้าพเจ้าก็เกิดความสนใจขึ้นมาทันที เพราะเขาศึกษาป่าในหลายแง่หลายมุม นักวิชาการหลายสาขามาศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ทางสมาคมมี Dr. John Hemming ผู้อำนวยการของสมาคม เขาบอกว่าถ้าไทยจะส่งนักศึกษามาร่วมโครงการก็ได้ ข้าพเจ้าเลยถามว่าถ้าข้าพเจ้าจะไปดูเองก่อนจะเป็นไปได้ไหม เขาบอกว่า ‘ไม่มีปัญหา’ ข้าพเจ้าก็เลยตกลงใจจะไป...

     "...ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะบันทึกความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเดินทางเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาสืบต่อไป การบันทึกคราวนี้ก็คงจะต้องมีข้อขาดตกบกพร่องไปบ้าง เพราะข้าพเจ้ามิได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือนักอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว จึงขอบันทึกในฐานะที่เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตในแวดวงของนักวิทยาศาสตร์ในป่าลึก”

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงเทพ ฯ ไปยังกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เนการาบรูไนดารุสซาลาม เสด็จ ฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ณ พระราชวังอิสตานา นูรุลอิมาน

     เสด็จ ฯ ไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบรูไน ทอดพระเนตรแผนกธรรมชาติวิทยา ซึ่งจำลองชีวิตสัตว์และสภาพระบบนิเวศที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ด้วย แผนกวัฒนธรรมอิสลาม แสดงชีวิตความเป็นอยู่และพิธีการในศาสนาอิสลาม จากนั้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีมาเลย์ ซึ่งมีการจัดแสดงเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ใช้ในการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การปลูกสร้างบ้านด้วยจาก บ้านช่างตีเหล็ก ช่างเงิน ช่างหล่อ  เป็นต้น แล้วเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรศูนย์ศิลปหัตถกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูบูรณะศิลปะบรูไนโบราณ  มีการสอนฝึกอาชีพ อาทิ การสานกระเป๋าด้วยปาหนันและไม้ไผ่ การทอผ้า จากนั้น เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรกำปงไอร์ (หมู่บ้านน้ำ) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่เหนือผืนน้ำ มีการสัญจรไปมาโดยเรือ

     ประทับเครื่องเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังเมืองซีเรีย เพื่อทอดพระเนตรแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเชลล์บรูไนปิโตรเลียม จากนั้น เสด็จ ฯ กลับนครหลวง และเสด็จ ฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีแห่งบรูไน ณ พระราชวังนูรุล อิมาน และไปเฝ้าพระชายา ณ พระราชวังนูรุลอิซซา
 
     เสด็จ ฯ มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม ทรงฟังคำบรรยายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย และโครงการศึกษาป่าฝนเมืองร้อน ทอดพระเนตรระบบข้อสนเทศภูมิศาสตร์ และห้องสมุดของมหาวิทยาลัย

     เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเพื่อไปยังศูนย์วิจัยภาคสนามแม่น้ำเบลาลอง (Kuala Belalong Field Centre) เพื่อทรงสำรวจป่าเขตร้อน รวม ๔ วัน โดยประทับ ณ เรือนพักของศูนย์ ฯ ในป่า ในวันแรก ทรงฟังการบรรยายสรุปเรื่องกิจการของราชสมาคมภูมิศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบรูไน ตั้งศูนย์ ฯ ดังกล่าวขึ้นที่จังหวัดเทมบุรง เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เข้ามาทำโครงการวิจัยต่าง ๆ อาทิ โครงการด้านอุทกวิทยา โครงสร้างของป่าในระดับความสูงต่าง ๆ กัน เป็นต้น แล้วเสด็จ ฯ ทรงสำรวจป่า พืชพันธุ์ไม้ในป่า เช่น หวาย เถาวัลย์ เฟิร์น ทอดพระเนตรพื้นที่ทดลองของนักวิจัย เช่น การศึกษาเรื่องหนูชนิดต่าง ๆ การศึกษาเรื่องแมลง

     ในการทรงสำรวจป่า ทรงพระดำเนินลึกเข้าไปในป่าเพื่อทอดพระเนตรบริเวณที่ศึกษาพันธุ์ไม้พันธุ์สัตว์ อาทิ ตาข่ายดักแมลง การศึกษาการกัดกร่อนของดิน การศึกษาตำแหน่งและขนาดของต้นไม้ใหญ่ การศึกษาการทำรังของมดในกิ่งไม้ เสวยพระกระยาหารกลางวันในป่า ทอดพระเนตรแปลงศึกษาหวายชนิดต่าง ๆ กับดักเมล็ดพันธุ์ไม้ ทรงพระดำเนินขึ้นไปยังลานบนสันเขา ทอดพระเนตรลานที่มีนกไก่ฟ้ามาชุมนุมกันตามธรรมชาติ ทรงปีนขึ้นไปตามป่าเขาที่ลาดชัน ทอดพระเนตรแปลงศึกษาโครงสร้างของป่าที่เปลี่ยนแปลงตามระดับความสูง การศึกษาการดูดอาหารของไม้ป่า ทรงทดลองจับงูพื้นเมืองที่ไม่มีพิษ เสวยพระกระยาหารกลางวันบนยอดเขา ทรงพระดำเนินไปตามสันเขา  ทอดพระเนตรเครื่องหมายบอกที่กำหนดเริ่มทำวิจัย ซึ่งเป็นจุดควบคุม ทุก ๕๐ เมตร มีเครื่องหมายบอกให้หยุดเพื่อศึกษาร่องรอยของสัตว์ประเภทลิง หรือนกเงือก เมื่อพบที่ใดต้องวัดมุม ความสูง ระยะ บันทึก baring ทำ triangulation โดยต้องทำการสำรวจในเวลากลางคืนซึ่งเห็นสัตว์เหล่านี้ได้ไม่ยากเนื่องจากตาของสัตว์สะท้อนแสงไฟ แล้วทรงพระดำเนินกลับศูนย์วิจัยภาคสนามแม่น้ำเบลาลอง นักวิจัยบรรยายเรื่องที่ทดลองถวาย

     วันต่อมา ทรงพระดำเนินตามลำน้ำ ทอดพระเนตรเฟิร์นและพืชที่ขึ้นริมน้ำซึ่งต้องมีความแข็งแรงจึงทนกระแสน้ำได้ เสด็จ ฯ เข้าไปในลำธาร Sungai Esu ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำเบลาลอง ทอดพระเนตรแนวศึกษาอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำทั้งสองด้าน เป็นการศึกษาการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้เบิกนำที่พบมากตามริมน้ำ ทรงพระดำเนินข้ามฝั่งแม่น้ำไปทอดพระเนตรแปลงทดลองการวัดแสงที่ต้นไม้เพื่อดูความสามารถสังเคราะห์แสง ทรงฝึกหัดวัดแสง (water stress) เสด็จ ฯ กลับที่ประทับโดยเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรห้องแลบซึ่งเป็นที่ทำงานของนักวิจัย ทรงฟังการบรรยายของนักวิจัย

     เสด็จพระราชดำเนินออกจากศูนย์วิจัยภาคสนามแม่น้ำเบลาลอง โดยเรือยนต์พระที่นั่งไปยังจังหวัดเทมบุรง เสด็จ ฯ หมู่บ้านชาวอีบาน ทอดพระเนตรการแสดงระบำพื้นเมือง